โรคข้อเสื่อม (osteoarthritis หรือ OA) เป็นภาวะข้ออักเสบที่พบมากที่สุด ซึ่งเป็นการอักเสบของข้อต่ออย่างน้อยหนึ่งข้อ บางคนเรียกว่าโรคข้อเสื่อมหรือโรคข้ออักเสบ "สึกหรอ" โรคนี้เกิดขึ้นเมื่อกระดูกอ่อนป้องกันที่หุ้มปลายกระดูกเสื่อมสภาพเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อไม่มีกระดูกอ่อนหุ้มปลายกระดูกแล้ว จะเกิดการเสียดสีและการสึกกร่อนภายในข้อ (กระดูกเสียดสีกัน) ผู้ที่มีภาวะข้อเสื่อมจะมีอาการเจ็บหรือปวดข้อ ข้อบิดผิดรูป การเคลื่อนไหวที่จำกัด ท้ายที่สุด โรคข้อเสื่อมจะจำกัดกิจกรรมประจำวันและอาจทำให้ทุพพลภาพได้
โรคข้อเสื่อมไม่ได้เป็นเพียงสุขภาพส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังเป็นสุขภาพของสาธารณะด้วย โดยส่งผลกระทบต่อประชากรวัยกลางคนและผู้สูงอายุในอัตราเร่ง ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) และในไม่ช้าจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (aged society) กล่าวอีกนัยหนึ่ง ในปัจจุบันผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในประเทศไทยมีมากกว่า 7% ของประชากรทั้งหมด และตัวเลขนี้จะสูงกว่า 14% ในไม่ช้า
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเสื่อม?
- อายุที่มากขึ้น: ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี
- น้ำหนักเกินและโรคอ้วน: ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 25 kg/m2 (1).
- แรงกดที่ข้อเข่าซ้ำ ๆ: บางกิจกรรมสร้างแรงกดต่อข้อเข่ามาก เช่น การขึ้นบันไดและนั่งบนพื้น (นั่งคุกเข่า, นั่งยอง, นั่งขัดสมาธิ, นั่งพับเพียบ)
- เคยบาดเจ็บที่ข้อ
- เคยติดเชื้อและ/หรือเกิดการอักเสบที่ข้อ
- โรคบางโรคที่มีการอักเสบที่เกิดขึ้นร่วมกัน เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) โรคเก๊าท์
- กรรมพันธุ์: บางคนมีกรรมพันธุ์ที่มีแนวโน้มจะเกิดโรคข้อเสื่อม

โรคข้อเสื่อม (OA) พบได้บ่อยแค่ไหน?
- มีผู้ป่วยด้วยโรคข้อเสื่อมประมาณ 250 ล้านคนทั่วโลก
- โรคข้อเสื่อมสามารถทำให้ข้อต่อใดก็ได้เสียหาย โดยข้อที่มักพบภาวะเสื่อมมากที่สุดคือ เข่า มือ และสะโพก (2)
- โรคข้อเสื่อมพบมากในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป (3)
- เพศหญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคข้อเสื่อมมากกว่าเพศชาย 2-3 เท่า (4),(5)

อาการของโรคข้อเสื่อม (OA) เป็นอย่างไร? (6),(7)
- อาการเจ็บ/ปวดในข้อ โดยเฉพาะเวลาเคลื่อนไหว
- ข้อบวม แดง ร้อน
- ข้อยึดตึง ปกติมักเป็นหลังตื่นนอนและดีขึ้นใน 30 นาที
- เคลื่อนไหวได้จำกัด
- รู้สึกถึงการขูดและอาจมีเสียงดังกรอบแกรบ

อาการปวดข้ออาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นและเป็นอาการที่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ การรักษาสามารถชะลอการลุกลามของโรคได้ ในฐานะที่เป็นโรคความเสื่อม (degenerative disease) โรคข้อเสื่อมจะค่อย ๆ แย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป มักส่งผลให้เกิดอาการปวดข้ออย่างต่อเนื่องและข้อบิดผิดรูป อาการอาจรุนแรงพอที่จะทำให้การทำกิจวัตรประจำวันลำบากขึ้น ทั้งยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตเช่น ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และนอนไม่หลับ (8).

อาการของโรคข้อเสื่อมต่างจากโรคข้ออื่น ๆ อย่างไร?
อาการของโรคข้อเสื่อมจะแตกต่างจากอาการของโรคข้ออื่น ๆ โดยจะเกิดในผู้สูงอายุหรือในผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บที่ข้อ อาการจะค่อย ๆ กำเริบและแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป ตัวอย่างเช่น อาการปวดจากโรคข้อเสื่อมจะเกิดขึ้นเมื่อข้อเสื่อมลง ดังนั้นอาการปวดจึงเรื้อรังและการบาดเจ็บที่ข้อต่ออาจทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้นได้ ข้อต่อที่เป็นโรคข้อเสื่อมจะสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวเมื่อเวลาผ่านไป ในขณะที่ข้อต่อที่ติดเชื้อ/อักเสบจะสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหัน

1. การรักษาด้วยวิธีการอนุรักษ์นิยมโดยไม่ใช้ยา

- การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคและการพูดคุยระหว่างแพทย์และผู้ป่วย: โดยมุ่งเน้นไปที่ทางเลือกในการรักษา การลดความเจ็บปวดและความวิตกกังวล การกำหนดเป้าหมายการรักษา และการช่วยเหลือผู้ป่วยให้อยู่ร่วมกับโรคข้อเสื่อม
- การปรับเปลี่ยนกิจกรรมในแต่ละวัน หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่สร้างแรงกดต่อข้อเข่ามากขึ้น เช่น นั่งคุกเข่า นั่งยอง นั่งขัดสมาธิบนพื้น หรือนั่งพับเพียบ และการเดินขึ้นบันได
- ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้า (quadriceps exercise) เช่น การปั่นจักรยาน, ว่ายน้ำ, รำมวยจีน
- การควบคุมน้ำหนัก: ตั้งเป้าลดน้ำหนัก 5% ของน้ำหนักตัวในปัจจุบันภายในระยะเวลา 20 สัปดาห์
2. การรักษาด้วยวิธีการอนุรักษ์นิยม (conservative treatment) โดยการใช้ยา

- ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (อะเซตามีโนเฟน), ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ซีลีค็อกซิบ(celecoxib)ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือไดโคลฟีแนค (diclofenac) เป็นต้น และอนุพันธ์ฝิ่น (Narcotic analgesic)
- อาหารเสริมสุขภาพข้อต่อ เช่น กลูโคซามีนซัลเฟต (glucosamine sulfate), คอนดรอยติน (chondroitin) และไดอาเซอรีน (diacerein)
- การฉีดยาเข้าข้อ (intra-articular injection) ด้วยสเตียรอยด์เพื่อลดอาการปวด กรดไฮยาลูโรนิกเพื่อช่วยหล่อลื่นข้อต่อ หรือพลาสมาที่มีเกล็ดเลือดสูง (PRP) เพื่อเสริมการรักษาข้อต่อ
3. การผ่าตัด

การผ่าตัด (หรือที่รู้จักว่า การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม, การผ่าตัดเปลี่ยนข้อ) เป็นการรักษาที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมที่การรักษาแบบอนุรักษ์นิยมไม่ได้ผลและโรคนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือทำให้เกิดความทุพพลภาพ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อ (joint replacement surgery) เป็นการผ่าตัดที่มักใช้กับข้อเข่า สะโพก และข้อนิ้ว การผ่าตัดช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและช่วยให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นและมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
References:
- Jevsevar DS, Brown GA, Jones DL, et al. American Academy of Orthopaedic Surgeons. The American Academy of Orthopaedic Surgeons evidence-based guideline on: treatment of osteoarthritis of the knee, 2nd edition. J Bone Joint Surg Am. 2013 Oct 16,95(20):1885-6. doi: 10.2106/00004623-201310160-00010.
- T. Vos, A.D. Flaxman, M. Naghavi, et al. Years lived with disability (YLDS for 1160 sequelae of 289 diseases and injuries 1990-2010: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2010. Lancet. 2012 Dec 15;380(9859):2163-96. doi: 10.1016/S0140-6736(12)61729-2.
- Oliveria SA, Felson DT, Reed JI, et al. Incidence of symptomatic hand, hip, and knee osteoarthritis among patients in a health maintenance organization. Arthritis Rheum. 1995 Aug;38(8):1134-41. doi: 10.1002/art.1780380817.
- Felson DT, Naimark A, Anderson J, et al. The prevalence of knee osteoarthritis in the elderly. The Framingham Osteoarthritis Study. Arthritis Rheum. 1987 Aug;30(8):914-8. Doi: 10.1002/art.1780300811.
- Park JI, Jung HH. Estimation of years lived with disability due to noncommunicable diseases and injuries using a population-representative survey. PLoS One. 2017 Feb 14;12(2):e0172001. doi: 10.1371/journal.pone.0172001.
- Theis KA, Murphy L, Hootman JM, et al. Social participation restriction among US adults with arthritis: a population-based study using the International Classification of Functioning, Disability and Health. Arthritis Care Res (Hoboken) 2013;65:1059-1069.
- Glyn-Jones S, Palmer AJ, Agricola R, et al. Osteoarthritis. Lancet. 2015 Jul 25;386(9991):376-87. doi: 10.1016/S0140-6736(14)60802-3. Epub 2015 Mar 4.
- Hawker GA. Osteoarthritis is a serious disease. Clin Exp Rheumatol. 2019 Sep-Oct;37 Suppl 120(5):3-6. Epub 2019 Oct 14.