ฟกช้ำ
การฟกช้ำเป็นอาการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อที่เกิดจากการกระแทก ซึ่งอาจเกิดได้ตั้งแต่ชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (Subcutaneous fat layer) จนถึงกล้ามเนื้อและกระดูก ความรุนแรงมีหลายระดับ บริเวณที่บาดเจ็บมักมีอาการปวดและบวม

การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ
การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อเกิดจากการอักเสบหรือการฉีกขาดของเส้นใยกล้ามเนื้อ (muscle fibers) รวมไปถึงเอ็นกล้ามเนื้อ (tendons) จากการออกแรงหรือยืดกล้ามเนื้อมากเกินไป ความรุนแรงมีหลายระดับ บริเวณที่บาดเจ็บมักมีอาการปวดและบวม ในการบาดเจ็บที่รุนแรง ผู้ป่วยอาจมีปัญหาในการรับแรงกดหรือแม้กระทั่งการยืดกล้ามเนื้อ (2)

การบาดเจ็บของเอ็นยึดกระดูก (bone ligament)
การบาดเจ็บของเอ็นยึดกระดูกเป็นการอักเสบหรือฉีกขาดของเอ็นยึดกระดูกและเยื่อหุ้มข้อ (joint membranes) สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อข้อต่อถูกบิดหรือยืดมากเกินไป มีความรุนแรงหลายระดับ บริเวณที่บาดเจ็บมักมีอาการปวดและบวม นอกจากนี้ อาจมีความรู้สึกที่ผิดปกติ เช่น เจ็บ หลวม และมีการเสียดสีในข้อต่อเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือมีน้ำหนักกดทับ ในการบาดเจ็บที่รุนแรง กระดูกอาจผิดรูปได้ (2)

การบาดเจ็บของกระดูก
การบาดเจ็บของกระดูกคือการที่กระดูกอักเสบ ร้าว (crack) หรือหัก (fracture) จากการกระแทกหรือรับน้ำหนักมากเกินไป มีความรุนแรงหลายระดับและมีลักษณะการบาดเจ็บ หลายแบบ บริเวณที่บาดเจ็บมักมีอาการปวด บวม และมีความรู้สึกที่ผิดปกติภายในกระดูกเมื่อกดทับ ในการบาดเจ็บที่รุนแรง กระดูกอาจผิดรูปได้ (2)


สำหรับอาการบาดเจ็บเล็กน้อย โดยปกติร่างกายสามารถฟื้นตัวได้เอง ในทางกลับกัน อาการบาดเจ็บรุนแรงอาจใช้เวลานานกว่าจะหาย และควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม เราสามารถปรับปรุงการพักฟื้นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตั้งแต่เริ่มมีอาการบาดเจ็บด้วยวิธีการดังต่อไปนี้:
- ลดหรือพักการใช้งานส่วนที่บาดเจ็บโดยเฉพาะกิจกรรมที่ทำให้เจ็บปวดมากขึ้น ใช้อุปกรณ์พยุงส่วนที่บาดเจ็บไม่ให้กระทบกระเทือนเวลาเคลื่อนไหวหรือรับน้ำหนักมากเกินไป (3)
- ควบคุมอาการปวดเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตโดยใช้เจลทาภายนอกที่มีส่วนประกอบของ Aesin ซึ่งเป็นตัวยาต้านอาการบวมน้ำ (4) รอยฟกช้ำ การห้อเลือด (10) และ Diethylamine Salicylate ซึ่งเป็นยาแก้อักเสบและบรรเทาอาการปวด (4) ภายใน 9 วัน (11) ร่วมกับสเปรย์เย็นที่มีส่วนผสมของเมนทอลและการบูร (5) ซึ่งจะช่วยรักษาบริเวณที่มีรอยฟกช้ำ ห้อเลือด และตะคริวสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา โดยทำตามคำแนะนำของแพทย์หรือปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
- ควบคุมอาการบวมด้วยการใช้ผ้ายืดพันบริเวณที่มีอาการบวมให้กระชับพอดี ไม่เจ็บหรือรู้สึกอึดอัดและยกบริเวณที่บาดเจ็บให้สูงขึ้น (1) อีกวิธีหนึ่งคือใช้ครีมทาภายนอกที่มีส่วนผสมของ Aesin ซึ่งเป็นตัวยาต้านอาการบวมน้ำ (4) และ Diethylamine Salicylate ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและบรรเทาอาการปวด (4) ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
- ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ขยับข้อต่อ และยืดกล้ามเนื้อที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ ออกกำลังกายโดยใช้น้ำหนักน้อยถึงปานกลางโดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนที่บาดเจ็บ เพื่อความปลอดภัย โปรดปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดก่อนออกกำลังกาย (3)
- เพิ่มการไหลเวียนเพื่อช่วยในกระบวนการซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บโดยใช้แผ่นประคบอุ่นหลังได้รับบาดเจ็บ 2 วัน หรือปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อทำการบำบัดฟื้นฟู (1)
การฟื้นฟูการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาจะช่วยให้โครงสร้างที่ได้รับบาดเจ็บฟื้นตัวเต็มที่ นักกีฬาจะสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้อย่างปลอดภัยและลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บซ้ำหรือการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการบาดเจ็บ (6) การทำกายภาพบำบัดส่วนที่บาดเจ็บจะช่วยให้คุณฟื้นตัว นำไปสู่การเคลื่อนไหวปกติเหมือนก่อนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้นักกีฬากลับมาใช้ทักษะการเล่นกีฬาได้เหมือน (หรือใกล้เคียง) สภาพก่อนได้รับบาดเจ็บ ปรึกษาแพทย์และนักกายภาพบำบัดเพื่อประเมินสภาพของคุณ และวางแผนฟื้นฟูการบาดเจ็บอย่างเหมาะสม อันประกอบด้วยประเด็นดังต่อไปนี้ (6):

ข้อต่อที่ได้รับบาดเจ็บอาจจะหลวมมากขึ้นเนื่องจากเส้นเอ็นยึดกระดูก กระดูก และเยื่อหุ้มได้รับความเสียหายหรือมีอาการติดขัดเนื่องจากไม่ได้เคลื่อนไหวอย่างเต็มที่เป็นเวลานานในช่วงที่ได้รับบาดเจ็บ ปัญหาทั้งสองอย่างเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บซ้ำ และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอันนำไปสู่การบาดเจ็บของโครงสร้างที่เกี่ยวข้องอย่างไม่รู้จบ เพื่อสร้างความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กับเส้นเอ็น กระดูก และการกระตุ้นกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อต่อ ผู้ป่วยควรฝึกการลงน้ำหนักที่ข้อและขยับข้อในทุกทิศทางโดยไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดทั้งระหว่างและหลังทำและค่อย ๆ เพิ่มน้ำหนักตลอดการฝึก (7).

กล้ามเนื้อที่บาดเจ็บจะสูญเสียความยืดหยุ่นและความแข็งแรงเนื่องจากเส้นใยกล้ามเนื้อเสียหายและไม่ได้ใช้งานในช่วงที่บาดเจ็บ การออกกำลังกายเป็นวิธีแก้ปัญหานี้ที่เหมาะสมที่สุด อย่างไรก็ตาม ความเจ็บปวดหลังได้รับบาดเจ็บมักส่งผลให้กล้ามเนื้อแข็งทื่อ (muscle stiffness) และไม่สามารถยืดและหดได้ตามปกติ อาการนี้อาจคงอยู่แม้ว่าจะไม่มีความเสียหายของกล้ามเนื้อหรือได้ผ่านขั้นตอนการซ่อมแซมตัวเองแล้วก็ตาม สิ่งสำคัญคือการออกกำลังกายเพื่อการฟื้นฟูไม่ควรก่อให้เกิดความเจ็บปวดระหว่างและหลังการออกกำลังกาย ท่าออกกำลังกายควรมีรูปแบบและช่วงของการเคลื่อนไหวคล้ายกับที่ใช้ในกีฬาและควรค่อย ๆ เพิ่มระดับการฝึกเพื่อพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออย่างปลอดภัย (7).

ระบบประสาทช่วยสร้างการทรงตัวซึ่งเป็นพื้นฐานของการเคลื่อนไหวและทักษะทางกีฬา เมื่อร่างกายได้รับบาดเจ็บ ระบบประสาทนี้มักจะบกพร่องและอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รวมถึงความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บซ้ำ การฝึกที่เหมาะสมนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อกระตุ้นระบบประสาทให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ ในกรณีที่ไม่มีอาการเจ็บเวลาลงน้ำหนัก คนไข้สามารถกระตุ้นระบบประสาทได้ง่าย ๆ โดยการยืนนิ่ง ๆ ด้วยขาข้างเดียว (ทำทีละข้าง เริ่มจากข้างที่ไม่ได้รับบาดเจ็บก่อน) ใกล้ผนังหรือจุดที่สามารถคว้าที่จับเพื่อป้องกันการล้มได้ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ช่วยทำการวิเคราะห์และแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสมระหว่างการบาดเจ็บ (7)

การเคลื่อนไหวและทักษะด้านกีฬาที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันและฟื้นฟูการบาดเจ็บจากกีฬา การบาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดขึ้นในขณะที่นักกีฬาทำการเคลื่อนไหวทั่วไปหรือขณะกำลังเล่นกีฬาอยู่ เมื่อได้รับบาดเจ็บ นักกีฬาบางคนอาจรู้สึกไม่มั่นใจหรือกลัวที่จะบาดเจ็บซ้ำ ดังนั้นนักกีฬาจึงไม่สามารถเล่นได้เหมือนก่อนได้รับบาดเจ็บ การฝึกทักษะเหล่านี้ตั้งแต่แรกเริ่มเป็นสิ่งสำคัญ โดยค่อย ๆ พัฒนาทักษะเหล่านี้จนกว่านักกีฬาจะพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะช่วยปรับสภาพของนักกีฬาทำให้สามารถกลับเข้าสู่สภาวะก่อนบาดเจ็บได้อย่างปลอดภัย (7)

กีฬาแต่ละประเภทมีระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกัน ปัญหาการบาดเจ็บส่วนใหญ่จากการใช้ร่างกายมากเกินไปเกิดจากการที่นักกีฬาฝึกซ้อมหนักเกินไปจนเกิดความเสียหายกับโครงสร้างร่างกาย ดังนั้น การประเมินการฝึกสมรรถภาพร่างกายร่วมกับการวางแผนการฝึก การแข่งขัน การเฝ้าติดตาม การประเมินสภาพ และการพักฟื้นอย่างเหมาะสมเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยให้นักกีฬาสามารถเล่นกีฬาต่อไปได้อย่างปลอดภัยโดยลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บ (8)

หลังจากส่วนที่บาดเจ็บได้รับการซ่อมแซมอย่างเต็มที่และทักษะการเคลื่อนไหวและกีฬาฟื้นคืนสู่ปกติ การเตรียมการขั้นสุดท้ายสำหรับการฟื้นฟูอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาคือการให้นักกีฬาเข้ารับการฝึกที่คล้ายกับสถานการณ์ที่เขาหรือเธอได้รับบาดเจ็บเพื่อกระตุ้นระบบประสาท ควบคุมการเคลื่อนไหว และฝึกวิธีการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเกมกีฬา นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจของนักกีฬาในการใช้ส่วนที่บาดเจ็บอีกด้วย ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญของการฝึกนี้คือ ต้องมีรูปแบบการเคลื่อนไหวและสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกันกับการเล่นกีฬาจริง โดยมีการปรับระดับความซับซ้อนตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง ซึ่งจะช่วยให้นักกีฬาสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่พวกเขากำลังฝึกซ้อมกับการนำไปใช้จริง ทำให้นักกีฬาสามารถกลับไปฝึกซ้อมและเล่นอีกครั้งได้ (9)

สิ่งสำคัญที่สุดในการกลับไปเล่นกีฬาหลังจากได้รับบาดเจ็บคือ การกำหนดเป้าหมายทีละขั้น การกำหนดกรอบเวลา และการวางแผนการฝึกเพื่อให้ร่างกายปรับตัวก่อนกลับไปเล่นกีฬาตามปกติ โดยเฉพาะในกีฬาประเภททีมที่มีการปะทะหรือจำเป็นต้องมีการรับรู้และตอบสนองเพื่อจัดการสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างรวดเร็ว ยิ่งเวลาพักจากอาการบาดเจ็บนานเท่าใด นักกีฬายิ่งต้องใช้เวลาในการปรับตัวนานขึ้นเท่านั้น หากอาการบาดเจ็บเกิดจากการใช้งานมากเกินไป อาจจำเป็นต้องพักฟื้นนานขึ้นหรือลดเวลาการฝึกเพื่อให้เหมาะกับสภาพร่างกาย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บซ้ำได้ (6)

References:
- Supporting document of the course 'Prevention and first aid Sports Injuries' by Puangpetch Mueanson, Faculty of Sports Science and Health, Institute of Physical Education Suphanburi Campus 2012 .
- Foundations in sport therapy: Chapter 2.
- Bleakley CM, Glasgow P, MacAuley DC. PRICE needs updating, should we call the POLICE? Br J Sports Med. 2012;46:220-1.
- Pabst, Helmut & Segesser, B & Bulitta, Michael & Wetzel, Dieter. Efficacy and Tolerability of Escin/Diethylamine Salicylate Combination Gels in Patients with Blunt Injuries of the Extremities. International Journal of Sports Medicine. 2001;22:430-6.
- J. V. Pergolizzi, R. Taylor, J.-A. LeQuang, R. B. Raffa. The role and mechanism of action of menthol in topical analgesic products. Clin Pharm Ther. 2018;43:313-319.
- Elzahaf RA, et al. Translation and Linguistic Validation of the Self Completed Leeds Assessment of Neuropathic Symptoms and Signs (S-LANSS) Scale for use in a Libyan Population. Pain Pract. 2013;13(3):198-205.
- Principles of injury prevention, Chapter 7.
- Ardern, Glasgow, Schneiders, et al. Consensus statement on return to sport from the First World Congress in Sports Physical Therapy, Berne. Br J Sports Med. 2016;50:853-64.
- Gabbett TJ. The training-injury prevention paradox: Should athletes be training smarter and harder? Br J Sports Med. 2016;50:273-80. 2009;10(5):918-929.
- PLI Reparil Gel N.
- Rothaar & Thiel, Percutaneous gel therapy of blunt athletic injuries. Med Weit. 1982.